การตัดแต่งกิ่ง

on กันยายน 28, 2553


การเตรียมความพร้อมต้นและการตัดแต่งกิ่ง นับเป็นเรื่องสำคัญในการเตรียมความพร้อมให้กับ ต้นลำไย เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแตกใบและกิ่งที่สมบูรณ์พร้อมสำหรับการออกดอก และได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ สำหรับการตัดแต่งกิ่งลำไยนั้นควรตัดแต่งให้เร็วที่สุดภายหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยตัดกิ่งหลักที่อยู่ กลางพุ่มออก 2 – 3 กิ่ง เพื่อให้ต้นลำไย ได้รับแสงมากขึ้น และยังเป็น



การช่วยชะลอความสูงของต้น จากนั้นตัดกิ่งกระโดงหรือกิ่งน้ำค้าง กิ่งที่ไม่ได้รับแสง กิ่งที่ไม่สมบูรณ์ และตัดกิ่งที่ถูกโรคหรือแมลงทำลายทิ้ง ควรให้เหลือกิ่งอยู่ประมาณ 60% ของทรงพุ่ม
ประโยชน์ของการตัดแต่งกิ่ง มีดังนี้ คือ
1. เร่งให้ลำไยแตกใบอ่อน ซึ่งมีผลทำให้ต้นลำไยฟื้นตัวได้เร็ว ใบใหม่ที่เกิดขึ้นจะทำหน้าที่ สร้างอาหารสะสมไว้สำหรับการออกดอกติดผลในฤดูกาลถัดไป

2. ช่วยควบคุมความสูงของทรงพุ่ม การที่ทรงพุ่มเตี้ยทำให้ง่ายต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิต สะดวก ต่อการดูแลรักษา และช่วยลดค่าใช้จ่ายในเรื่องไม้ค้ำยันกิ่ง ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง
3. ลดการระบาดของโรคและแมลง เช่น โรคราดำ โรคจุดสาหร่ายสนิม และไลเคนส์ เป็นต้น
4. การตัดแต่งกิ่งให้ทรงพุ่มโปร่งทำให้แสงส่องเข้าไปในทรงพุ่มได้ จะช่วยให้ต้นลำไยตอบสนอง ต่อสารโพแทสเซียมคลอเรตได้ดี ทำให้ลำไยออกดอกมากขึ้น แม้ว่าปริมาณการใช้สารลดลง
5. ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพดี ได้ผลขนาดใหญ่ขึ้น และคุณภาพผลผลิตโดยรวมดีขึ้นด้วย

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีการตัดแต่งกิ่งลำไย ซึ่งเกษตรกรสามารถทำได้หลายวิธี โดยเฉพาะการตัดแต่งกิ่ง “ทรงฝาชีหงาย” วิธีนี้มีข้อดีหลายอย่าง อาทิ ต้นลำไยจะมีทรงเตี้ย สามารถควบคุมความสูงของทรงพุ่มใหญ่ให้อยู่ในระดับเดิมได้ทุกปี ทั้งยังช่วยกระตุ้นการแตกใบให้เร็วขึ้น ผลผลิตที่ได้จะมีคุณภาพดี โดยเฉพาะผลลำไยที่เกิดจากกิ่ง
กระโดงในทรงพุ่มจะมีผิวสีเหลืองทอง เป็นที่ต้องการของตลาด และสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ 20 – 50% ด้วย
การตัดแต่งทรงฝาชีหงายทำได้โดยตัดกิ่งที่อยู่กลางทรงพุ่มออกให้หมด ให้เหลือเฉพาะกิ่งที่เจริญในแนวนอน จากนั้นจะเกิดกิ่งใหม่ขึ้นตามกิ่งหลักที่เจริญในแนวนอน เรียกกิ่งที่เกิดขึ้นว่า กิ่งกระโดง ซึ่งจะออกดอกได้ภายใน 4 – 6 เดือนหลังตัดแต่ง และช่อผลลำไยที่เกิดจากกิ่งกระโดงเมื่อผลใกล้แก่จะโน้มลง หลบเข้าในทรงพุ่ม ทำให้ผลลำไยมีขนาดใหญ่และมีสีเหลืองทอง
นอกจากทรงฝาชีหงายแล้ว ยังสามารถตัดแต่งกิ่งทรง “เปิดกลางพุ่ม” โดยตัดแต่งกิ่งที่อยู่ กลางทรงพุ่มออก 2 – 5 กิ่ง เพื่อลดความสูงของต้น และให้แสงแดดส่องเข้าในทรงพุ่ม แล้วตัดแต่งกิ่งที่อยู่ด้านในทรงพุ่มที่ไม่ได้รับแสง ควรตัดกิ่งที่มีขนาดใหญ่ทางด้านข้างของทรงพุ่มออกบ้าง เพื่อให้แสงส่อง เข้าไปในทรงพุ่ม ขณะเดียวกันต้องตัดกิ่งที่ถูกโรคแมลงทำลาย ตัดกิ่งที่ไขว้กัน กิ่งซ้อนทับ และกิ่งที่ชี้ลง ออกด้วย
สำหรับสวนที่มีต้นลำไยอายุน้อยและปลูกระยะชิด เกษตรกรอาจตัดแต่งกิ่ง “ทรงสี่เหลี่ยม” โดยกำหนดความสูงของทรงพุ่มอยู่ในช่วง 2 – 3 เมตร โดยนำไม้ไผ่ทำเครื่องหมายตามความสูงที่ต้องการ แล้วนำไปทาบที่ต้นลำไย กิ่งที่สูงเกินเครื่องหมายก็ตัดออกให้หมด จากนั้นตัดปลายกิ่งด้านข้างทรงพุ่มทั้งสี่ด้าน ขึ้นอยู่กับระยะปลูก และทรงพุ่มเดิม โดยทั่วไปแนะนำให้ตัดลึกจากปลายกิ่งประมาณ 30 – 50 เซนติเมตร รูปทรงที่ได้จะเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายหลังการตัดแต่งกิ่งประมาณ 2 สัปดาห์
ต้นลำไยจะเริ่มแตกใบ ถ้าต้องการให้ต้นลำไยสมบูรณ์เต็มที่ควรให้มีการแตกใบ 3 ครั้ง ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน นับตั้งแต่ตัดแต่งกิ่งก็สามารถชักนำการออกดอกได้ หลังตัดแต่งกิ่งต้องเร่งบำรุงต้น โดยให้ปุ๋ยอินทรีย์ (ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก) อัตรา 10-20 กิโลกรัม ต่อต้น ควบคู่กับปุ๋ยเคมี ซึ่งในระยะนี้ต้นลำไยต้องการธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม คิดเป็นสัดส่วน 4:1:3 สูตรปุ๋ยเคมีที่แนะนำให้ใช้ควรเน้นธาตุไนโตรเจนและโพแทสเซียม เช่น สูตร 46-0-0,15-15-15 และ 0-0-60 ส่วนอัตราการใช้ขึ้นอยู่กับขนาดทรงพุ่ม อย่างไรก็ตาม ปีนี้หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว เกษตรกรควรวางแผนการผลิต รีบเตรียมความพร้อมต้น เร่งตัดแต่งกิ่งเพื่อผลิตลำไยนอกฤดูคุณภาพป้อนตลาด พื่อโอกาสที่ดีที่รออยู่ข้างหน้าต่อไป





ดูหัวข้อที่เกี่ยวข้อง:

  • ประวัติลำใย




  • การปลูกลำไย




  • ประโยชน์ของลำไย




  • โรคและการป้องกัน

  • 0 ความคิดเห็น:

    แสดงความคิดเห็น